เจาะแนวรบ “สื่อ” ยุค Metaverse “จริยธรรม” คือคำตอบ ยอด “วิว” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการประชุมทวิภาคีระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับ สภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย เพื่อปลุกคนสื่อ ให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์อันพึงได้จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อย่างที่ออสเตรเลียกำลังทำ เนื่องจากในอนาคต เฟซบุ๊ค จะไม่ใช่พื้นที่ของคนข่าวอีกต่อไป และ “ยอดวิว” จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โมเดลยูเนสโก “พลเมืองรู้เท่าทัน” จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมให้สังคมตัดสิน “สำนักไหนตัวจริง”
กรชนก รักษาเสรี อนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
เสียงสะท้อนของ กรชนก รักษาเสรี อนุกรรมการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “รู้ทันสื่อกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ในประเด็น “เมื่อจริยธรรมสื่อต้องอยู่คู่กับธุรกิจ” ทางสถานีวิทยุ FM 100.5 อสมท. ถึงการประชุมทวิภาคีสภาวิชาชีพฯ ไทย-อินโดฯ ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งได้มีการหยิบยกประเด็นการทำงานด้านต่างๆ ของทั้ง 2 ฝ่ายขึ้นหารือ รวมทั้งการทำหน้าที่ของสื่อภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เบาบางลงนั้น สรุปได้ว่า ภายใต้ความจำเป็นทางธุรกิจนั้น สื่อก็ยังคงไว้ซึ่งจริยธรรมเหมือนเช่นที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ฝ่ายอินโดนีเซีย ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมอีกด้วยว่า กำลังศึกษาโมเดลของออสเตรเลีย ที่ประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสื่อโดยเฉพาะสื่อในกลุ่มข่าว (ไม่รวมสื่อที่มีเนื้อหาด้านบันเทิง หรือด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข่าว) เพื่อไม่ให้เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เอาเปรียบ แต่สื่อที่เป็นองค์กรทางด้านข่าวก็จะต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อต่อรองกับแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ได้ผลประโยชน์จากการนำข่าวของพวกเขาไปเผยแพร่ต่อ
“ออสเตรเลีย มีการกำหนดคุณสมบัติของสื่อในกลุ่มนี้ไว้ว่า จะต้องเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตข่าวเป็นหลัก ต้องมีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพ เป็นสื่อที่มีเสรีภาพไม่เอนเอียง และต้องมีการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย”
ระวี ตะวันธรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สปริงนิวส์ออนไลน์
ยอดวิวไม่ใช่คำตอบ
ระวี ตะวันธรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สปริงนิวส์ออนไลน์ กล่าวว่า ประเด็นธุรกิจกับจริยธรรมสื่อหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลงนั้น เขามั่นใจว่า ตลอดเวลที่ผ่านมาองค์กรสื่อที่มีมาตรฐานในประเทศไทยต่างก็มีโครงสร้างการดำเนินงานในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่วิธีการอาจจะแตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในขณะนี้ก็คือ การที่แฟลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค ประกาศปรับตัวเป็นโซเชียลมีเดียเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชนจริงๆ ซึ่งหมายถึง เฟซบุ๊ค จะไม่ใช่แพลตฟอร์มในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนอีกต่อไป ดังนั้นธุรกิจสื่อจึงต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไร หาก เฟซบุ๊ค ไม่ได้มีไว้สำหรับงานข่าวอีกต่อไป
“หลายปีก่อน มีการพูดกันว่า สื่อมวลชนกำลังจะตาย เพราะผู้รับสารสามารถเป็นสื่อเองได้ มาถึงวันนี้การเปลี่ยนแปลงกำลังจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งผมว่าเรามาถึงจุดเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นจุดที่มืออาชีพกำลังจะกลับมายืนได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล และต้องยืนอย่างเข้าใจ คือ ต้องพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับพัฒนาจริยธรรม ซึ่งต้องไม่ลืมว่า คนเสพสื่อทุกวันนี้เก่งขึ้น อะไรที่ไม่ดี ก็เริ่มจะไม่รับแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงเริ่มจะไม่เสพเนื้อหาที่มียอดวิวสูงๆ เพียงอย่างเดียว เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเริ่มเน้นสาระ ความถูกถ้วน และความเป็นมืออาชีพของผู้นำเสนอมากขึ้น”
ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จริยธรรมสร้างความสำเร็จระยะยาว
ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์ประจำคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงประเด็นทางธุรกิจและจริยธรรมสื่อ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลงว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า หากสื่อใช้จริยธรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ สื่อนั้นๆ ก็จะประสบความสำเร็จในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อมากขึ้น ต้องการความโปร่งใส ความถูกต้อง และพิจารณาถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโลกมากขึ้น
นอกจากนี้เรากำลังจะก้าวเข้าสู่โลกของ Metaverse ของเฟซบุ๊ค และแผนขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในสังคม และการขับเคลื่อนนวัตกรรม ฉบับปี ค.ศ. 2030 ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ก็มีนัยยะที่ชัดเจนว่า โลกแห่งอนาคตอันใกล้นี้ จะต้องอาศัยความฉลาดทางดิจิทัลของพลเมืองที่มีความรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อเก่าหรือผู้ที่จะมาเป็นสื่อ จะต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พร้อมๆ กับจะต้องยึดมั่นจริยธรรมสื่อให้ได้ด้วย
กันณพงศ์ ก.บัวเกษร ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งนครเชียงรายนิวส์ ออนไลน์ (นสพ.เชียงราย) และ Business Manager, Ensemble Thailand
Social หารายได้ง่ายจริงหรือ
มองไปที่มุมมองคนรุ่นใหม่อย่าง กันณพงศ์ ก.บัวเกษร ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งนครเชียงรายนิวส์ ออนไลน์ (นสพ.เชียงราย) และ Business Manager, Ensemble Thailand กล่าวในประเด็น “ใช้สื่อ Social หารายได้ ง่ายจริงหรือ…?” ว่า โลกโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ไม่มีใครเหนือกว่าใคร เนื่องจากทุกคนเข้าถึงได้ง่ายเหมือนกัน มีโอกาสใช้ประโยชน์ได้เท่ากัน แต่ความสำเร็จของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลา ความถี่ ความสม่ำเสมอ และความน่าสนใจของเนื้อหาที่เผยแพร่
“ปัจจุบันคนทำสื่อ ให้ความสนใจทำเว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าวกันมาก ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า รูปแบบและเนื้อหาไม่แตกต่างกัน ผมกลับมองว่า เว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าว ก็เหมือน ส.ส. คือ ต่างคนต่างมีแฟนคลับ เป็นของตัวเอง โดยส่วนหนึ่งของแฟนคลับ เป็นแฟนคลับที่เกิดขึ้นเมื่อได้เห็น ส.ส. หรือ ได้ฟัง ส.ส. คนนั้นพูด เห็นผลงานของ ส.ส. คนนั้น เว็บไซต์ข่าวหรือเพจข่าวก็เหมือนกัน เพียงแต่ในแง่มุมของงานข่าวนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง แม่นยำ มีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ช้าไม่เป็นไร แต่ถ้าคนอ่านอ่านของเรา ได้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน เขาก็จะเชื่อถือและแชร์ต่อ ส่วนเรื่องของรายได้นั้น ก่อนจะมองเรื่องรายได้ ผมอยากให้ตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราทำข่าวเพื่ออะไร ถ้าทำข่าวเพื่อหารายได้ ก็อาจจะเป็นวิธีคิดที่ผิดไปหน่อย คือ ต้องไม่หลงลืมนโยบายหลักของวิชาชีพสื่อ อย่าลืมจุดตั้งต้นของการเป็นสื่อ และไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีรายได้ เพราะถ้าเนื้อหาเราดี น่าสนใจ มีคนติดตาม รายได้ก็จะตามมา”
กรกมล ลีลาวัชรกุล บรรณาธิการ เว็บไซต์ korseries.com
เสพสื่อด้วยสติและคำถาม
กรกมล ลีลาวัชรกุล บรรณาธิการ เว็บไซต์ korseries.com อดีตนิสิต คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พลิกผันตัวเองมาเป็นนิสิตคณะนิเทศฯ หนึ่งในผู้ประสบความสำเร็จในการทำรายได้จากสื่อออนไลน์ กล่าวว่า เธอเริ่มต้นจากความชอบซีรีย์เกาหลี ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย จึงได้สร้างเพจเพื่อเล่าเรื่องราวที่เธอได้รับจากซีรีย์เกาหลี กระทั่งในช่วงที่เธอกำลังจะต้องเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย และต่อเนื่องมาจนถึงการเรียนในคณะสัตวแพทย์ปี 3 ปรากฏว่า มีผู้ติดตามเพจของเธอมากขึ้น และเพจเริ่มโต แต่เธอก็เรียนหนักขึ้น เธอจึงตัดสินใจหยุดเรียนสัตวแพทย์ และเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับพัฒนาเพจของตัวเอง และเปิดเว็บไซต์ korseries.com กระทั่งถือว่าประสบความสำเร็จอยู่ในขณะนี้
“ถ้าเรารู้จัก รู้ทัน และเข้าใจการใช้สื่อ เราก็จะไม่มีปัญหาเรื่องของการถูกหลอก หรือถูกชักจูงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แถมยังมีรายได้เข้ามาในระดับที่เราพอใจ การที่เราเข้าถึงสื่อ และใช้สื่อได้โดยไม่กังวลเรื่องการถูกหลอกนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเรียนในสาขาที่มีการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ แต่สำหรับคนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียก็สามารถรู้เท่าทันสื่อโซเชียลได้ เพียงแค่ต้องมีสติ มีความสงสัย ตั้งคำถาม และตรวจสอบข้อมูล ส่วนการรู้เท่าทันนั้น ก็ต้องรู้เท่าทันตัวเองและคนอื่น ต้องระมัดระวัง และวิเคราะห์ตรวจตราให้ดี ซึ่งตรงนี้ถือเป็นคุณสมบัติของคนสื่อที่ควรจะต้องมี”
อาตมัน ทองอยู่ บรรณาธิการบริหาร www.salika.co
สื่อที่ดีต้องชี้ทางออกให้สังคม
ปิดท้ายด้วย “อาตมัน ทองอยู่” บรรณาธิการบริหาร www.salika.co ที่กล่าวถึงแนวคิดการสร้างสื่อยุคใหม่ว่า เราอยากทดลองสร้างพื้นที่สำหรับเล่าเรื่องนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้แก่สังคม เล่าเรื่องการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ห้องเรียนอาจไม่สำคัญเท่าประสบการณ์หรือการลงมือทำจริง เล่าเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน รวมถึงสร้างมุมมองเชิงบวก ทั้งในด้านการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจ ด้วยการนำเสนอบทความที่มองถึงความเป็นไปได้ และการจัดการหรือแนวคิดเพื่อปัญหาและอุปสรรคผ่านเรื่องราวและกรณีศึกษาต่างๆ โดยส่วนตัวผมมองว่าทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า Information Overload คือข้อมูลที่เราได้รับในแต่ละวันมันเยอะมาก แต่ผมก็ยังเชื่อว่า เรายังมีพื้นที่อีกมากสำหรับสร้างเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งสร้างหรือรวบรวมองค์ความรู้ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง ทั้งในเรื่องเฉพาะบุคคลหรือในทางสังคมโดยรวม เพื่อเป็นตัวเลือกให้คนได้เสพเนื้อหาที่มีคุณค่า
คอนเทนต์ในบ้านเรายังมีช่องว่างให้ก้าวไปข้างหน้าได้อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาในแนวลึกหรือแนวกว้าง บทความวิชาการ งานวิจัย รายงานเชิงลึก หรือการสำรวจต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูล หรือ Data ที่กว้างใหญ่ไพศาล ผ่านการวิเคราะห์จนเป็น Big Data ที่เป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้างได้ เช่นในต่างประเทศจะให้คุณค่ากับคอนเทนต์อย่างมาก บทความวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจที่นำมาเผยแพร่แค่บางย่อหน้าบนเว็บไซต์ ถ้าใครอยากอ่านต่อหรือต้องการไฟล์ฉบับเต็มก็ต้องจ่ายเงิน อาจจะผ่าน Paypal, Alipay หรือ e-Wallet อื่นๆ ซึ่งโมเดลนี้ก็ Win-Win คนอ่านได้ข้อมูลความรู้ สื่อฯ หรือผู้เขียนก็อยู่ได้ เพราะมีรายได้กลับเข้ามา
“ยิ่งในยุคดิจิทัล Journalism ต้องเพิ่มศักยภาพตัวเองเป็น Data Journalism ผมคิดว่าในสถานการณ์แบบนี้ สื่อฯเราอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องมีความรู้ นำเสนอคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลถูกต้อง Integrate ข้อมูลได้ โดยไม่นำเสนอข้อมูลเพียงแค่ชั้นเดียว หรือ 5W (Who, What, Where, When, Why) แต่ต้องบอกได้ว่า ควรทำอย่างไร หรือแก้ปัญหาตรงไหน (How) โดยอาจให้ข้อมูลคาดการณ์เชิงลึก หรือชี้ประตูทางออกทางเลือกเอาไว้ และที่สำคัญต้องสื่อสารออกมาเป็นภาพให้เข้าใจง่ายได้ด้วย ผมเชื่อว่า ยิ่งสื่อมีความรู้ความพร้อม และสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพออกมามากเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและเป็นหูเป็นตาให้สังคมได้มากขึ้นเท่านั้น”
ขอบคุณรูปภาพ และบทความดี ๆ จาก : SALIKA | Knowledge Sharing Space