ก้าวผ่านจาก NEW NORMAL สู่ NEXT NORMAL หลังยุค COVID-19
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตยา และวัคซีนในวงการแพทย์ แต่ยังทำให้เกิดชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตจากที่เคยออกจากบ้าน เพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียน ต้องหันมาทำทุกอย่างอยู่ที่บ้าน และหากจะออกจากบ้านก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรค ทำให้เกิดคำถามที่ว่าแล้วโลกหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ในวันที่การระบาดกลายเป็นโรคธรรมดาๆ ทั่วไป?
เมื่อถึงเวลานั้น “Next Normal” วิถีชีวิตใหม่ของเราที่จะเกิดขึ้น “หลัง” ที่การแพร่ระบาดเบาบางลง ซึ่งก็ได้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการนำเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในหลายธุรกิจ โดยจะเกิด 4 เทรนด์หลักดังต่อไปนี้
1. ระบบเศรษฐกิจการใช้จ่ายและการบริโภคภายในบ้าน (Stay at Home Economy)
มาตรการล็อกดาวน์จากรัฐบาลได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนไปอย่างมาก หลายคนหันมาสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรม E-commerce เติบโตอย่างมากตั้งแต่ปี 2020
ข้อมูลจากทาง Statista เผยว่า ปี 2020 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 4.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขยายตัวร้อยละ 28 จากปีก่อน ส่วนประเทศไทย ข้อมูลจาก KKP Research พบว่า E-commerce มีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวจากปีก่อนถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว!
โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าแม้เราจะผ่านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรือเข้าสู่ยุค Next Normal ที่รัฐบาลจะผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติแล้ว อุตสาหกรรม E-commerce ไทยยังจะสามารถขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี เนื่องจากผู้บริโภคได้เสพติดการซื้อของออนไลน์ไปแล้ว
2. สังคมไร้การสัมผัส (Touchless Society)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนมองว่า การสัมผัสอาจเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด แล้วหันมาใช้การโอนเงินแทน ในธุรกิจการค้าปลีก จะเกิดรูปแบบธุรกิจที่ลดการสัมผัสโดยตรง (Touchless Retailing) โดยผู้ซื้อไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ขาย ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อลดการสัมผัสให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตัวอย่างของธุรกิจที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด (Cashless) ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้แล้ว ยังเพิ่มความสบายใจในด้านความปลอดภัยจากการเสี่ยงติดเชื้ออีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการเอง ก็ควรจะมีทักษะด้านการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้ทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค
อย่างเมื่อต้นปีที่แล้ว Amazon เองก็เปิดตัว Amazon Go ร้านสะดวกซื้อแบบไม่มีแคชเชียร์หรือแม้แต่พนักงานในร้าน ดำเนินการภายใต้การใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “แค่เดินออกไป (Just Walk Out Technology)” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้การสแกน และติดตามสินค้า ที่ไม่ว่าคุณจะหยิบออกหรือวางคืนไว้ที่ชั้นวางที่เดิม ระบบก็จะสามารถติดตามได้หมด และถ้าหากคุณหยิบสินค้ามาใส่ในตะกร้า ระบบจะใส่ชื่อรายการสินค้านั้นไว้ในรายการที่คุณสั่งซื้อที่เชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชัน และคุณสามารถที่จะเดินออกไปจากร้านได้เลยทันทีเมื่อซื้อสินค้าเสร็จโดยไม่ต้องผ่านแคชเชียร์ แต่ระบบจะตัดเงินหลังจากคุณเดินออกจากร้านไปโดยทันที
3. การเกษตรแบบออร์แกนิกเชิงฟื้นฟู (Regenerative Organic)
นอกจากการปรับพฤติกรรมที่ต้องใส่ใจสุขภาพมากขึ้นแล้ว สิ่งที่ทุกคนหันมาสนใจมากขึ้นคือ ธรรมชาติ ที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรมบางประเภทอาจเป็นการทำลายธรรมชาติทางอ้อม เช่น การใช้สารพิษ หรือการใช้เมล็ดที่ผ่านการปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งเทรนด์การใส่ใจธรรมชาตินี้ ส่งผลให้อเมริกาถึงกับออกมาตรฐานสินค้าใหม่สำหรับรับรองการทำเกษตรกรรมในชื่อ Regenerative Organic Certified (ROC) ซึ่งยืนยันถึงความเป็นมิตรต่อดินในฟาร์มนั้นๆ โดยฟาร์มนั้นจะต้องผ่านมาตรฐานออร์แกนิกมาก่อนแล้ว แม้โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นอย่างจริงจังได้ไม่นานมานี้เอง แต่มีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่า 30 องค์กรแล้ว
เมื่อปลายปี 2020 ประเทศไทยเองก็ตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการที่ชื่อว่า “โครงการการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์สำหรับมะพร้าวน้ำหอมอย่างยั่งยืน (Regenerative Coconuts Agriculture Project: ReCAP)” ซึ่งเกิดจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับฮาร์มเลส ฮาร์เวสท์ (Harmless Harvest) และดานอน (Danone Ecosystem Fun) ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบนิเวศ โครงการนี้มีพื้นที่นำร่องในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การทำสวนมะพร้าวแบบยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการอบรมแนวทางการฟื้นฟูด้วยเกษตรอินทรีย์ เสริมสร้างทักษะทางธุรกิจขั้นพื้นฐานเพื่อเพิ่มรายได้ และกระจายช่องทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดตั้งกลุ่มให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และเกิดแรงจูงใจในการทำเกษตรแบบยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
4. การแพทย์ และสุขภาพแบบดิจิทัล (Digital Health)
หลายคนอาจมองว่า “หากป่วยก็ต้องไปโรงพยาบาลสิ ถึงจะหาหมอได้” แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยให้เราข้ามผ่านความคิดแบบเดิมๆ ไปได้ ด้วยความสามารถของ AI และ Machine Learning ช่วยพัฒนาวงการแพทย์และสุขภาพ ให้ก้าวหน้าผ่านการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยลดข้อจำกัดด้านการเดินทาง และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนมองว่าการดูแลตัวเอง (Self-care) กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการรักษาสุขภาพ (Health Care) เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองอาจน้อยกว่าการต้องไปจ่ายค่ารักษาพยาบาล และนอกจากนี้อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับดูแลตัวเอง เช่น วิตามินเสริม สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา หรือซื้อผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce จากโทรศัพท์มือถือได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่การใส่ Apple Watch ที่แสดงอัตราการเต้นหัวใจ และสามารถเรียกรถพยาบาลหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็เป็นอีกหนึ่งในความก้าวหน้าของการแพทย์แบบดิจิทัล
เห็นได้ชัดว่า การก้าวผ่านจาก New Normal สู่ Next Normal นั้นเป็นการนำเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ และการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เข้าสู่การใช้ชีวิตของทุกคนมากขึ้น ดังนั้นการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัล และการทำ Digital Transformation เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น นักเรียน และนักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ คนวัยทำงานเองก็สามารถใช้ช่องทางดิจิทัลในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ (Upskill & Reskill) เพื่อเพิ่มรายได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลอาจต้องช่วยให้ทุกคนมีทุน และอุปกรณ์พื้นฐานที่จะทำให้การเข้าถึงโลกดิจิทัลในยุค Next Normal เป็นไปได้อย่างราบรื่น